วันพุธที่ 16 ธันวาคม 2563 เวลา 14.00 น.ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สผ.) 416 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา ส.ส.ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมพิจารณาศึกษาและมีมติในเรื่องต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ พิจารณาศึกษาหาแนวทางในการเชิดชูบุคคลในวงการมวยไทยให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะมวยไทย” ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยเชิญผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้ ผู้แทนจากสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยได้ให้ข้อมูลแก่ที่ประชุมว่า มวยไทยได้รับการยกย่องและยอมรับว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ (National Cultural Heritage) ที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์และเป็นที่ยอมรับขององค์กรกีฬานานาชาติ มีความผูกพันกับวิถีชีวิตไทยมาตั้งแต่ก่อนยุคสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน มวยไทยได้รับการรับรองจากนานาชาติ
โดยสมัชชาสหพันธ์กีฬานานาชาติ (GAISF) (เดิม) หรือ Sport Accord (ปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2549 และกระทรวงวัฒนธรรมประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาของไทย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee : IOC) รับรองมวยไทยเป็นกีฬาในโอลิมปิก ประเทศไทยให้ความสำคัญแก่กีฬามวยไทย โดยเป็นกีฬาชนิดเดียวในโลกที่มีอนุสรณ์วันสำคัญ คือ วันมวยไทย โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 ให้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปีซึ่งตรงกับวันขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ เป็นวันมวยไทย สถาบันศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ถอดรหัส 4F Thai DNA สู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป้าหมายที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทย เป็น 5F Creative Industries ได้แก่ 1. Fighting (มวยไทย) 2. Food (อาหารไทย) 3. Fashion (แฟชั่น) 4. Film (ภาพยนตร์) และ5. Festival (เทศกาลต่าง ๆ) ผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรมได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า
มวยไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒน ธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยพิจารณาคุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2553 และกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกและประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล แต่สำหรับมวยไทยนั้นจะใช้หลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 การไหว้ครูของนักมวยนั้นเป็นรูปแบบที่มีการถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่เป็นปกติ แต่การเป็นศิลปินแห่งชาติต้องเป็นการนวัตกรรมใหม่ มีความโดดเด่น แม้ว่านักมวยเป็นที่ยอมรับของสังคม ที่ประชุมได้มีการพิจารณาประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ได้รับฟังจากผู้ชี้แจงแล้วเห็นว่า แม้ว่ากีฬามวยไทยอาจจะเป็นศิลปะการต่อสู้ที่แตกต่างจากศิลปะแขนงต่าง ๆ ที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ก็ตาม
แต่มวย ไทยเป็นศิลปินที่ควรส่งเสริมและเชิดชู การหาทางออกในเรื่องดังกล่าว เพื่อเชิดชูบุคลากรในวงการมวยไทยนั้น เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรมีการหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสม อาจจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมสาขาศิลปะของศิลปินแห่งชาติหรือมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมจากหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องดังกล่าวผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรมได้ขอนำเรียนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม เพราะวัฒนธรรม คือ การเปลี่ยนแปลงเป็นมรดกที่เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา หากบุคลากรในวงการมวยไทยสามารถเป็นศิลปินแห่งชาติอาจเป็นการสร้างความภูมิใจของประเทศ เป็นการสร้างความสมดุลของวัฒนธรรมที่มีการเปลี่ยนแปลง
หากมวยไทยเป็นสาขาหนึ่งในศิลปินแห่งชาติ เป็นการส่งเสริมและเชิดชูให้มวยไทยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ซึ่งที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นว่า กฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกและประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 นั้น มีการเปิดช่องทางในการใช้ดุลพินิจที่อาจสามารถปรับเปลี่ยนได้ หากในอนาคตกระทรวงวัฒนธรรมได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎและระเบียบแล้ว สมาคมกีฬามวยไทยก็จะต้องคัดสรรบุคลากรที่เหมาะสมกับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติได้ การพิจารณาในเรื่องนี้ เป็นการมอบโอกาสแก่คนที่เหมาะสมเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของเยาวชนในอนาคตให้เดินตามแนวทางดังกล่าวและเพื่อเป็นกำลังที่สำคัญของประเทศ!!